โปรแกรม Network สำหรับ Fix-IP , Enable DHCP Network Card, Ping, Telnet, Trace Route, Interface Ping
- ไม่มีสินค้าในตะกร้าของคุณแล้ว
- จัดส่ง
- รวมทั้งสิ้น ฿0.00
WIFI ช้า สัญญาณไม่ครอบคลุม ต้องทำยังไง
WIFI ช้า สัญญาณไม่ครอบคลุม ต้องทำยังไง
ในบทความนี้จะแนะนำเกี่ยวกับปัญหา WIFI เล่นแล้วช้า ติดๆหลุดๆ การแก้ปัญหาโดยจะเหมาะกับงาน Home Use หรือ Small Office นะครับ
ยิ่งช่วง Work Form Home นี้ มีลูกค้าหลายๆท่านเจอปัญหากันค่อนข้างเยอะ ขออนุญาติใช้คำอธิบายแบบภาษาบ้านๆเลยละกันครับ ตัวเลขก็สุ่มๆมาเพื่อให้ดูง่ายๆ
การสื่อสารด้วยระบบ WIFI หรือ Wireless มันใช้หลักการคือ เอาคลื่นวิทยุมาความถี่นึง แล้วเอาข้อมูลแปะเข้าไปในแต่ละลูกคลื่น ยิงส่งสัญญาณผ่านเสาอากาศไปไกลๆได้โดยไม่ต้องเดินสาย Cable
อีกฝั่ง (ทั้ง 2 ฝั่งนั้นแหล่ะ) พอรับสัญญาณได้ก็ถอดเอาข้อมูลจากคลื่นวิทยุมาใช้งาน
ปัญหาแรกของการใช้คลื่นวิทยุในอาคารเลย สิ่งกีดขวาง
คลื่นวิทยุ จะมีปัญหากับสิ่งกีดขวาง พอเจออะไรมาขวางจะโดนลดทอนสัญญาณลง ยิ่งความถี่สูงมากเท่าไหร่ การทะลุทะลวงก็จะยิ่งน้อยมาก
แต่..ข้อดีของการใช้คลื่นความถี่ที่สูงมาก เช่น 5GHz มีลูกคลื่น 5 พันล้านลูก ในเวลา 1 วินาที ข้อมูลที่ไปแปะในคลื่นก็จะได้มากขึ้น
เพราะฉะนั้นคลื่น 5GHz การส่งข้อมูลจะไวกว่า 2.4GHz หลายเท่า (ขึ้นอยู่กับรูปแบบการแปะข้อมูลด้วย) เช่น 2.4GHz ได้ความเร็ว 60Mbps แต่ 5GHz เดี๋ยวนี้ทำความเร็วได้มากกว่า 700Mbps
ส่วน 2.4GHz ข้อดีตอนนี้ก็จะมีแค่ทะลุสิ่งกีดขวางได้ดีกว่า 5GHz และ ใช้ร่วมกับอุปกรณ์พวก iOT หรืออุปกรณ์ที่ไม่ได้ต้องใช้ความเร็วเยอะๆ
อีกเรื่องนึงที่ลูกค้ามักเข้าใจผิด จะเทียบกับพวกวิทยุ FM หรือ ส่งสัญญาณ TV พวกนี้มันสื่อสารทางเดียว ตัวรับวิทยุ ทีวี มีหน้าที่แค่รับครับ ส่วนการสื่อสารด้วยระบบ WIFI มันเป็นการสื่อสาร 2 ทาง ทางฝั่ง Device เช่น Smartphone/Tablet มันต้องส่งข้อมูลกลับไปด้วยครับ
และคิดว่าความเร็ว Test Speed ผ่าน WIFI จะต้องเท่ากับความเร็วที่เชื่อมต่อผ่านสาย LAN เช่น สมัคร Package 1Gbps ไว้ ใช้ PC ต่อสาย Lan แล้ว Test Speed อ่ะ...ได้ซัก 950Mbps
แต่พอใช้มือถือ หรือ Notebook ต่อ WIFI ดัน Test ได้แค่ 400Mbps เรื่องนี้อธิบายยาว เรียกว่ารูปแบบการส่งข้อมูลมันไม่เหมือนกันครับ ข้อจำกัดของแต่ละรูปแบบจึงแตกต่างกัน
จากรูป
สัญญาณส่งจาก Wireless Router ผ่านทะลุกำแพง จะโดนกำแพงลดทอนสัญญาณวิทยุลงไป
อ้อ..การลดทอนของสัญญาณจะขึ้นอยู่กับประเภทสิ่งกีดขวางด้วยนะครับ ถ้า อิฐ ปูน ไม้ ยังพอทะลุได้ แต่ถ้าเหล็กนี้สะท้อนกลับเลย มันมีตารางบอกค่าอยู่
หลักๆ ค่าการลดทอนเรียงจากน้อยไปมาก
กระจก (ไม่ติดฟิลม์) --andgt; ไม้ --andgt; ผนังอิฐ --andgt; เหล็ก (สัญญาณสะท้อนกลับเลย ไม่ทะลุแม้แต่นิดเดียว)
สัญญาณที่เหลือทะลุผ่านกำแพงมาได้ ความเข้มของสัญญาณก็จะน้อยลง พอความเข้มสัญญาณน้อย ความเร็วก็จะน้อยตาม เป็นค่าแปรผันกันครับ
เพราะอะไรถึงช้าลง?
เหมือนคนคุยกันเร็วๆแต่เสียงไม่ชัด ขาดๆหายๆ มันจะคุยไม่รู้เรื่อง เลยจำเป็นต้องตกลงกันว่า คุณครับ... เราคุยกันช้าๆทีละคำๆก็พอน่ะ ข้อมูลจะได้ไม่ผิดพลาด ทีนี้พอเราเอาจำนวนคำที่คุยกันมาเทียบกับค่าเวลา 1 วินาที จาก หลายพันล้านคำต่อ 1 วินาที เหลือแค่ไม่กี่คำ กว่าจะคุยกันครบ รู้เรื่อง มันก็เลยช้าลงครับ
...ฝั่ง Device ที่อยู่หลังสิ่งกีดขวาง เช่น Tablet เปิด WIFI มา มันจะยังพอเห็นสัญญาณอยู่นะครับ เพราะ Wireless Router มีเสาส่งที่ใหญ่ และกำลังส่งค่อนข้างมากเลยทะลุกำแพงได้ดี ตอนนี้...ถ้าใช้งานประเภท Download เช่นดู Youtube, เปิด Facebook เข้า Website ก็ยังพอได้ครับ
ทีนี้ การส่งข้อมูลกลับ เนื่องจากตัว Tablet/ Smartphone/ Notebook เองมีเสาส่งที่เล็กมาก กำลังส่งก็ต่ำสุดๆ ส่งทะลุกำแพงไปหา Wireless Router
Wireless Router ก็รับข้อมูลจาก Tablet ได้น้อย ความเร็วที่ได้ก็จะน้อยตาม น้อยมากๆด้วย ถ้าพวกงาน Upload ไม่ว่าจะเรื่อง Streaming , ประชุม Online พวก App Zoom, Google Meet ภาพจะสะดุดเลยละครับ ส่งเมล์ยังช้าเลย
แต่ถ้า Device ไม่สามารถส่งสัญญาณกลับไปหา Wireless Router ได้เลย โดนสิ่งกีดขวางหลายๆชั้น ไม่มีสัญญาณรอดออกไปได้ การสื่อสารกันก็จะใช้ไม่ได้ครับ เพราะ Wireless Router ไม่รู้ว่า Device คุยอะไรเข้ามา ก็จะไม่มีการตอบกลับ คนคุยคุยกัน 2 ฝั่ง มีกำแพงขวางซะเสียงรอดไม่ได้ ฝั่งนึงก็ตะโกนไปเหอะ อีกฝั่งไม่ได้ยิน ก็ไม่สนใจ อีกฝั่งก็เลิกตะโกน (Time Out) ยกเลิกการเชื่อมต่อ ไม่คุยด้วยแล้ว หลักการประมาณนี้ละครับ
ทางแก้.. ย้ายตัว Wireless Router มาวางในตำแหน่งใกล้ๆที่เราใช้ WIFI ประจำๆ หรือถ้าไม่อยากย้าย ก็ต้องไปนั่งเล่นใกล้ๆตัว Wireless Router ครับ กำปั้นทุบดินสุดๆ^^
OK! ในเมื่อติด WIFI เราก็ต้องการความสะดวก เดินไปเล่นตรงไหนก็ต้องได้ นอนดู Netflix, เปิดดู Youtube บนเตียง นั่งอ่าน Facebook ในห้องน้ำ โต๊ะกินข้าว ก็ต้องได้ดู
ทางเลือกแรก เดินสาย Lan ไปที่ Access Point เพื่อปล่อย WIFI เสถียรสุด
หาซื้อ Access Point (ตัวกระจาย WIFI จากนี้ขอเรียกว่าเป็น Access Point ครับ) มาติดเพิ่ม และ เดินสาย Lan จาก Router ต้นทางมายัง Access Point ที่ติดเพิ่ม อยากให้ครอบคลุมพื้นที่ขนาดไหน หรือ จะติดตรงตำแหน่งที่เราใช้งาน Internet บ่อยๆ ก็ติดเพิ่มเข้าไป
ข้อดี
- อุปกรณ์ Wireless Router และ Access Point ถ้าเป็นอุปกรณ์ที่เป็นมาตรฐานความเร็วเหมือนกัน ความเร็วที่ได้ตรงจุด B จะใกล้เคียงกับจุด A (ขึ้นอยู่กับ Device ด้วยครับ)
- การติดตั้งรูปแบบนี้เสถียรที่สุด ได้ความเร็ว WIFI สูงสุด
- ถ้าติดตั้งหลายๆตัว มี Controller ช่วยคุม (เดี๋ยวนี้มีทั้งฟรีและไม่ฟรี) จะได้เรื่อง การทำ Roaming
ข้อเสีย
- ต้องเดินสาย Lan เสียตังค์จ้างช่างที่เดินสาย Lan เป็น อาจต้องเดินลอยในบ้านทำให้ไม่สวย แนะนำ ถ้าจ้างช่าง ให้เดิน Lan ทีเดียวให้ทั่วเลยดีกว่าครับ โดยรวมจะประหยัดกว่า
เสริมเรื่อง Roming คือการที่ Device เราเช่น Smartphone/Tablet อยู่ใกล้ Access Point ตัวไหน ก็จะไปเกาะกับตัวนั้น เช่น ติดตั้ง AP ชั้น 1 และชั้น 2 ทีแรก เราเดินที่ชั้น 1 เกาะ AP#1 พอเดินไปชั้น 2 ตัว AP#2 ติดบนฝ้าอยู่เหนือหัวเราเลย ถ้าไม่มี Roaming และ Device เรายังรับสัญญาณจาก AP#1 ได้อยู่ แม้จะแค่ขีดเดียว มันก็จะไม่ปล่อยมาเกาะที่ AP#2 ที่สัญญาณดีกว่าได้ความเร็วสูงกว่า แต่ถ้ามีการทำ Roaming พอ Device เรารับสัญญาณจาก AP#2 ได้ดีกว่า ก็จะไปเกาะอัตโนมัต
ทางเลือกที่ 2 ทำ Repeater ขยายสัญญาณ
หา Access Point ที่มี Mode Repeater หรือ Universal Repeater มาวางเสียบปลั๊ก เพื่อทำการ Repeat สัญญาณจาก Wireless Router ต้นทาง ส่งต่อให้ได้ไกลขึ้นไปอีก
โดยตำแหน่งที่วางตัว Repeater ต้องรับสัญญาณจาก Wireless Router ได้อย่างน้อยก็ 2 ขีด (ง่ายๆใช้มือถือวัด)
ข้อดี
- พอใช้งานได้ สะดวก ถูก ประหยัด
- ทำการ Repeate สัญญาณจาก Wireless Router ต้นทางได้เลย เพื่อให้เพิ่มระยะของสัญญาณได้มากขึ้น
ข้อเสีย
- Repeater ทุกๆข้อมูลจะถูกส่งไปกลับ ระหว่างตัวต้นทาง (Wireless Router) กับ Repeater ตลอดเวลา และ ใช้ช่องสัญญาณเดียวกันนี้สำหรับสื่อสารกับ Device (มือถือ Tablet) ทำให้ช้าลงไปมาก ตัวอย่างจากรูป ความเร็วที่ได้ตรง ตำแหน่ง B ซึ่งเป็นสัญญาณทีมาจาก Repeater จะได้ความเร็วน้อยกว่าตรง ตำแหน่ง A ที่มาจาก Wireless Router เช่น รับตรงจุด A ได้ 50Mbps ที่จุด B อาจจะได้ประมาณ 10-20Mbps
- ไม่ค่อยเสถียร ถ้างานไม่เน้นเร็ว ก็พอใช้งานได้สบายๆ
- ทำ Roaming ไม่ได้
ทางเลือกที่ 3 ใช้ระบบ Mesh อันนี้จะแพงขึ้น แต่ไม่แพงเท่าเดินสาย Lan
*** ถ้างบถึง แนะนำใช้ MESH เลยครับ ***
หา Access Point ที่มี Mode Mesh มาติดตั้ง รูปแบบประมาณนี้ ตำแหน่งที่วางก็ให้รับสัญญาณจากตัวต้นทางได้
รายละเอียดจะอยู่ในบทความนี้ครับ ขยายสัญญาณ WIFI ให้ครอบคลุมในบ้านง่ายๆด้วย WIFI-MESH
ข้อดี
- สะดวก ประหยัด
- ได้เรื่อง Roaming
- ช่องสัญญาณที่ใช้สื่อสารกันระหว่าง MESH ต้นทาง กับ MESH ปลายทาง จะเรียกว่า Backhaul และจะใช้ช่องสัญญาณอื่นในการสื่อสารกับ Device ทำให้ได้ความเร็วที่แตกต่างจาก Repeater ค่อนข้างเยอะ (ควรเลือกใช้รุ่นที่เป็น 4x4 MIMO)
ข้อเสีย
- ค่ายใครค่ายมัน คือ จะใช้ต่างยี่ห้อไม่ได้ ต้องซื้ออย่างน้อย 2 ตัว ตัวต้นทางเสียบปลั๊กต่อสาย Lan เข้ากับ Router เรียกว่า MESH Root ตัวปลายทางเสียบปลั๊กเฉยๆ เรียกว่า MESH Node
- ความเร็วที่ได้ก็จะลดทอนลงเหมือนกับ Repeater
ขอเพิ่มเติมในส่วนปัญหาอื่นๆที่พบกันบ่อยๆครับ
ปัญหา Device มาเชื่อมต่อ Access Point กันเยอะเกินไป
รูปประกอบ
สมมุติ Access Point ปล่อย WIFI ได้ความเร็วสูงสุด 400Mbps มี Device มาเกาะซัก 4 เครื่อง ใช้งานเต็มพร้อมๆกัน คำนวนเลขกลมๆก็คือ 400 หาร 4 ได้เครื่องละ 100
แล้วถ้ามีซัก 50 เครื่อง เช่น ในห้องสัมมนา, ห้องเรียน ก็ 400 หาร 50 เอาไปเครื่องละ 8Mbps ครับ จริงๆมันไม่ได้หารกันแบบนี้ครับ Service ไหนใช้ Bandwidth ก็จะดึงไปเยอะ ช้าเลยล่ะ
ทางแก้
ติด Access Point เพิ่มอีกตัวครับ แบ่งโหลดกันไป เดี๋ยวนี้หลายๆยี่ห้อจะมี Mode Loadbalance ให้ด้วยครับ
ปัญหาสัญญาณที่ส่งออกมาจาก Access Point ชนกับของชาวบ้าน หรือ ชนกันเอง
คลื่นความถี่ 2.4GHz และ 5GHz นี้เป็นการเรียกแบบรวมๆครับ จริงๆมันมีคลื่นตัวเลขย่อยๆอยู่ข้างในอีก เราเรียกว่า Channel อย่างของ 2.4GHz ก็จะแยกเป็น 11 Channel (1-11) ส่วน 5GHz แต่ละประเทศจะ Channel ไม่เหมือนกัน
*** และต้องไม่ลืมว่า คลื่นวิทยุย่านความถี่พวกนี้ ใครก็สามารถใช้ได้ เหมือน ถนน ที่ทุกคนก็เอารถออกมาขับบนถนนเส้นนี้ได้หมด***
ทีนี้ ถ้า Access Point 2 ตัวอยู่ใกล้กัน และ ตั้ง Channel ไว้ตรงกัน คลื่นวิทยุมันก็จะชนกันและหักล้างสัญญาณกันครับ อารมณ์ประมาณฟัง FM เช่น 99MHz แล้วมีคลื่นของคนอื่นปล่อย 99MHz เหมือนกัน เวลาเราเปิดฟัง เสียงก็จะขาดๆหายๆ ฟังไม่รู้เรื่อง
ทางแก้
เปลี่ยน Channel ซะ ถ้าใช้ Controller มักจะมี Tool ที่ชื่อ RRM (Radio Resource Management) จะทำการสั่งให้ Access Point ทำการ Scan สัญญาณแถวนั้นๆพอได้ข้อมูลมา ตัว Controller ก็จะทำการปรับเปลี่ยน Channel รวมถึง กำลังส่งไม่ให้ชนกันเองให้โดยอัตโนมัติ
แต่ถ้าไม่ได้ใช้ Controller ก็เหนื่อยหน่อยครับ ยิ่งถ้าเป็น Zone ที่ชาวบ้านใช้ WIFI เยอะๆ ร้านค้าในห้าง ในอาคารที่มีสำนักงานเยอะๆ ต้องคอยเปลี่ยนไปเรื่อยๆครับ
พวกปัญหาอื่นๆ เช่น การ Config ผิด, มีปัญหาสาย Lan เข้าหัว Lan ไม่ดี , ตัว Device เป็นมาตรฐาน WIFI แบบเก่า, Hidden node ตัว Device อยู่ในตำแหน่งที่สัญญาณขาดๆหายๆ ก็เป็นอีกสาเหตุนึงเช่นกันครับ
แต่ขอจบเท่านี้ก่อนนะครับ
Facebook comment